หน้าหลัก > ผลงานวิชาการสร้างสรรค์และวิจัย > สุนทรียศาสตร์จีน
สุนทรียศาสตร์จีน
ปี 2566
รายละเอียด
ศาสตราจารย์ปิยะแสง จันทรวงศ์ไพศาล
หนังสือเล่มแรกของวงการศึกษาไทยว่าด้วยสุนทรียศาสตร์และปรัชญาศิลปะในบริบทของสุนทรียศาสตร์เต๋า ขงจื่อ และพุทธนิกายเซ็น เป็นการเขียนในรูปแบบ "ตำรา" เพื่อใช้เป็นคู่มือการเรียนในรายวิชา "สุนทรียศาสตร์ตะวันออก" ระดับปริญญาโทและปริญญาตรี โดยไม่มีการจำหน่าย แต่เป็นการเผยแพร่ให้แก่สาธารณชนเพื่อประโยชน์ของวงการศึกษาสืบไป สามารถดาวน์โหลดฉบับเต็มได้ฟรีตามลิงก์ https://sure.su.ac.th/xmlui/handle/123456789/27855 หรือลิงก์ของคลังข้อมูลมหาวิทยาลัยศิลปากร https://sure.su.ac.th/xmlui/ การศึกษาด้านสุนทรียศาสตร์มีเนื้อหาว่าด้วยประเด็นของการศึกษาเรื่องความงามในเชิงทฤษฎีซึ่งสัมพันธ์กับประสบการณ์ทางสุนทรียะทางศิลปะ การแสวงหาคุณค่าของความงามในเชิงสุนทรียภาพ และการรับรู้ที่มีต่อธรรมชาติ อุดมคติ และการสร้างสรรค์ของมนุษยชาติ อย่างไรก็ตาม สำหรับสุนทรียศาสตร์ตะวันออกนั้นจะแตกต่างไปจากตะวันตก เพราะสุนทรียศาสตร์ตะวันออกยังแฝงไว้ด้วยคตินิยมที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับวัฒนธรรมประวัติศาสตร์ สังคม ศาสนา และปรัชญา ซึ่งมีลักษณะเฉพาะของโลกตะวันออกที่มีเอกลักษณ์และภูมิหลังทางอารยธรรมนับพันปี คณะจิตรกรรม ประติมากรรมและกาพพิมพ์ได้จัดให้มีการเรียนการสอนในรายวิชา 215 424 สุนทรียศาสตร์ตะวันออก (Eastern Aesthetics) หมวดวิชาบังคับ หลักสูตรศิลปมหาบัณฑิต สาขาวิชาทฤษฎีศิลป์ ระดับปริญญาโท และรายวิชา 215 202 สุนทรียศาสตร์ตะวันออก (Eastern Aesthetics) วิชาแกน ปี 4 หลักสูตรทัศนศิลป์ ระดับปริญญาตรี ซึ่งส่วนหนึ่งของเนื้อหารายวิชาว่าด้วยการศึกษาสุนทรียศาสตร์ตะวันออกจำเป็นต้องมีความเข้าใจการศึกษาเรียนรู้ด้าน "สุนทรียศาสตร์จีน" ซึ่งเป็นเนื้อหาที่ไม่เคยมีตำราหรือหนังสือภาษาไทยเล่มใดเคยเขียนมาก่อน เป็นแรงบันดาลใจสำคัญที่ทำให้ผู้เขียนลงมือเขียนตำราเล่มนี้ ด้วยเห็นว่าสมควรจะได้มีการเรียบเรียงตำราที่ใช้ประกอบการเรียนการสอนด้านสุนทรียศาสตร์จีนอย่างเป็นระบบระเบียบและสามารถใช้เป็นคู่มือและการศึกษาด้วยตนเองให้แก่ผู้เรียนในมหาวิทยาลัยศิลปากร รวมไปถึงคุณค่าและคุณประโยชน์ที่มีต่อวงการศึกษาด้วยเช่นกัน ท้ายที่สุด ตำรา "สุนทรียศาสตร์จีน" สามารถสำเร็จลงได้ด้วยทุนสนับสนุนจากกองทุนวิจัยและสร้างสรรค์ คณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ผู้เขียนจึงขอกราบขอบพระคุณเป็นอย่างสูงมา ณ โอกาสนี้ ศาสตราจารย์ปิยะแสง จันทรวงศ์ไพศาล