ข้อมูลเมื่อ : 11 เมษายน 2561
747 เข้าชม
การเสวนา "กัญญาสไตล์กัญญา"
ร่วมเสวนาโดย อาจารย์สมศักดิ์ เชาวน์ธาดาพงศ์ และ รศ.ดร. กฤษณา หงษ์อุเทน
ศาสตราจารย์เกียรติคุณกัญญา เจริญศุภกุล เป็นผู้เริ่มฟื้นฟูการเรียนการสอนเทคนิคภาพพิมพ์หิน ในปี พ.ศ. ๒๕๓๔ รวมทั้งได้มีการจัดพิมพ์เอกสารวิจัยความเป็นไปได้ในการทำภาพพิมพ์หินในประเทศไทย โดยได้รับการสนับสนุนการวิจัยจากสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยศิลปากร การจัดพิมพ์ตำราภาพพิมพ์หิน ด้วยทุนสนับสนุนของหอศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และมูลนิธิซิเมนต์ไทย อีกทั้งยังเป็นผู้ถวายการจัดพิมพ์ผลงานภาพพิมพ์หินฝีพระหัตถ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี คือ ภาพช้างและภาพสระบัว ในด้านการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะ ศาสตราจารย์เกียรติคุณกัญญา เจริญศุภกุล ได้สร้างสรรค์ผลงานศิลปะด้วยกรรมวิธีต่าง ๆ อาทิ Monoprint, Silkscreen และ Lithograph รวมทั้งจิตรกรรม สื่อผสม ศิลปะจัดวาง เริ่มมีการจัดแสดงนิทรรศการเดี่ยวครั้งแรกในปี พ.ศ. ๒๕๓๐ จนกระทั่งมาถึงครั้งที่ ๘ ในปี พ.ศ. ๒๕๕๑ ในนิทรรศการ “พิราบไทย ๒๕๕๑ เมื่อไหร่จะไม่(พิลาบ) เสียที” ที่สะท้อนความระส่ำระสายในสังคมไทย อันเนื่องมาจากเกมการเมืองของผู้กุมอำนาจหลายฝ่าย กระทั่งประชนคนไทยแตกแยกแบ่งสี นอกจากนี้ ศาสตราจารย์เกียรติคุณกัญญา เจริญศุภกุล ยังได้ร่วมแสดงผลงานในประเทศหลายนิทรรศการทั้งในและต่างประเทศ เช่น นิทรรศการศิลปะภาพพิมพ์นานาชาติ อาทิ ยูโกสลาเวีย ชิลี แบกแดด ฟินแลนด์ ญี่ปุ่น และนิทรรศการศิลปะประเภทจิตรกรรมในต่างประเทศ ผลงานสร้างสรรค์ที่เป็นที่รู้จักโดยทั่วไปคือ ผลงานชุด“ภาพพิมพ์หิน – จิตรกรรมหมึกดำ” ผลงานชุด “ธง : พฤษภา ๒๕๓๕”และ “SLASH” นิทรรศการศิลปะร่วมสมัย “Show Me Thai” ๒๐๐๗) เนื่องในโอกาส ๑๒๐ ปี ความสัมพันธ์ไทย – ญี่ปุ่น ณ Museum of Contemporary Art of Tokyo นิทรรศการ “รอยยิ้มสยาม” นิทรรศการศิลปะ “ฝันถึงสันติภาพ : ศิลปะไทยร่วมสมัยในยุคขัดแย้ง” ตลอดระยะเวลากว่า ๓๐ ปี ที่ผ่านมา ศาสตราจารย์เกียรติคุณกัญญา เจริญศุภกุล ได้ทำหน้าที่ศิลปินทัศนศิลป์สร้างสรรค์ มีการนำเสนอผลงานอย่างมุ่งมั่นให้ประชาชนได้ตระหนักรู้คุณค่าของการอยู่ร่วมกันภายใต้ความมีสันติธรรม