ประวัติโดยย่อคณะจิตรกรรมฯ


คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร มีกำเนิดและประวัติความเป็นมาสรุปโดยย่อดังนี้

พ.ศ.2476

 - ประกาศพระราชกฤษฎีกาจัดแบ่งส่วนราชการในกรมศิลปากร จัดตั้งกองประณีตศิลปกรรมขึ้นเมื่อวันที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2476 จุดเริ่มต้นโรงเรียนประณีตศิลปกรรม

พ.ศ.2477

 - กองประณีตศิลปกรรมแบ่งส่วนราชการออกเป็น 2 แผนกคือ แผนกช่างและแผนกโรงเรียน คือ โรงเรียนประณีตศิลปกรรม มีศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี เป็นผู้อำนวยการ จัดตั้งขึ้นเพื่อฝึกหัดอบรมวิชาจิตรกรรมและประติมากรรม ให้แก่ข้าราชการและยุวชนไทย โดยมิได้เก็บค่าเล่าเรียน

พ.ศ.2480

 - โรงเรียนประณีตศิลปกรรมได้เปลี่ยนชื่อเป็น โรงเรียนศิลปากรแผนกช่าง

พ.ศ.2481

 - นักเรียนจากโรงเรียนประณีตศิลปกรรมจบการศึกษาเป็นรุ่นแรก และเป็นผู้ช่วยของศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ในการสร้างอนุสาวรีย์สำคัญในเมืองไทย

พ.ศ.2486

 - จัดการแสดงศิลปกรรมของนักเรียนขึ้นเป็นครั้งแรก เพื่อเผยแพร่ให้ประชาชนได้ประจักษ์ถึงคุณค่าของศิลปกรรม
- วันที่ 12 ตุลาคม 2486 ยกฐานะโรงเรียนศิลปากรแผนกช่างขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยศิลปากร โดย ฯพณฯ จอมพลแปลก พิบูลสงคราม ตระหนักถึงคุณค่าของศิลปวัฒนธรรม จึงได้ดำเนินการร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยศิลปากรขึ้น โดยมีอธิบดีกรมศิลปากรเป็นผู้อำนวยการมหาวิทยาลัย และศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี เป็นคณบดีคณะจิตรกรรมและประติมากรรม คณะวิชาแรกของมหาวิทยาลัยศิลปากร

พ.ศ.2488

 - มหาวิทยาลัยศิลปากรผลิตอนุปริญญาศิลปบัณฑิตรุ่นแรก จำนวน 8 คน

พ.ศ.2497

 - คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้ผลิตบัณฑิตสาขาประติมากรรมเป็นคนแรกจำนวน 1 คน

พ.ศ.2505

 - ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี คณบดีคนแรกของคณะจิตรกรรมฯ ถึงแก่กรรม ณ โรงพยาบาลศิริราช วันที่ 14 พฤษภาคม 2505 ผู้ช่วยศาสตราจารย์เขียน ยิ้มศิริ ได้รับการแต่งตั้งให้รักษาการในตำแหน่งคณบดีคณะจิตรกรรมและประติมากรรม โรงเรียนประณีตศิลปกรรมได้เปลี่ยนชื่อเป็น โรงเรียนศิลปากรแผนกช่าง

พ.ศ.2507

 - พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตของมหาวิทยาลัยศิลปากรเป็นครั้งแรก พร้อมกันนั้นมหาวิทยาลัยศิลปากรได้ทูลเกล้าฯ ถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาจิตรกรรมเป็นพระองค์แรก

พ.ศ.2509

 - คณะจิตรกรรมและประติมากรรมได้ขออนุมัติจากสภาการศึกษาแห่งชาติ จัดตั้งภาควิชาภาพพิมพ์ขึ้น เปิดโอกาสให้นักศึกษาเลือกทำปริญญาทางสาขาวิชาภาพพิมพ์ได้เช่นเดียวกับภาควิชาจิตรกรรมและภาควิชาประติมากรรม การจัดตั้งภาควิชาภาพพิมพ์มีผลต่อชื่อของคณะฯ จึงได้เปลี่ยนชื่อเป็น “คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์”

พ.ศ.2511

 - คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ ได้ผลิตศิลปบัณฑิตทางภาพพิมพ์ ขึ้นเป็นรุ่นแรก จำนวน 4 คน

พ.ศ.2514

 - ผู้ช่วยศาสตราจารย์เขียน ยิ้มศิริ รักษาการในตำแหน่งคณบดี ถึงแก่กรรม ณ โรงพยาบาลศิริราช ในวันที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2514
- ผู้ช่วยศาสตราจารย์ชลูด นิ่มเสมอ ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรักษาการคณบดีคณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์
- มหาวิทยาลัยได้มีการปรับปรุงหลักสูตรใหม่ โดยจัดให้มีการศึกษาภาคพื้นฐานขึ้น เพื่อให้นักศึกษามีความรู้พื้นฐานทั่วไปในวิชาศิลปศาสตร์ อันจะทำให้เป็นบัณฑิตผู้รอบรู้ มีทัศนคติอันดีงาม รู้จักวินิจฉัย มีความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งจะเป็นทางนำคุณประโยชน์มาสู่สังคม และเพื่อให้ระบบการสอนแบบหน่วยกิตที่ได้มาตรฐานสากล คณะจิตรกรรมฯ จึงได้ดำเนินการปรับปรุงหลักสูตรของคณะฯ ขึ้นใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของมหาวิทยาลัย หลักสูตรปรับปรุงใหม่นี้สำเร็จเรียบร้อยในปี พ.ศ. 2517

พ.ศ. 2517

 - เปิดหลักสูตรใหม่เพื่อให้เข้าสู่ระบบการศึกษาแบบมหาวิทยาลัยสากล ศึกษาโดยใช้ระบบหน่วยกิตและมีการศึกษาวิชาความรู้พื้นฐานทั่วไปทุกคณะวิชา
- คณะจิตรกรรมฯ ได้รับอนุมัติจากสภาการศึกษาแห่งชาติให้เปิดสอนระดับปริญญาโทเป็นปีแรก 3 สาขา คือ สาขาจิตรกรรม สาขาประติมากรรม และสาขาภาพพิมพ์ มีนักศึกษาจำนวน 4 คน
- คณะจิตรกรรมฯ เปิดอาคารเรียนหลังใหม่ เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2517

พ.ศ. 2518

 - ผู้ช่วยศาสตราจารย์ชลูด นิ่มเสมอ ลาออกจากตำแหน่งรักษาการคณบดีคณะจิตรกรรมฯ เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2517 ผู้ช่วยศาสตราจารย์กฤษณา คชเสนี รับตำแหน่งรักษาการคณบดีคณะจิตรกรรมฯ

พ.ศ. 2519

 - ผู้ช่วยศาสตราจารย์ชลูด นิ่มเสมอ ดำรงตำแหน่งคณบดีคณะจิตรกรรมฯ เป็นคนที่ 2
- คณะจิตรกรรมฯ เปิดหลักสูตรการศึกษาภาควิชาศิลปไทย เพื่อส่งเสริมงานสร้างสรรค์ในลักษณะไทยประเพณีและลักษณะไทยสร้างสรรค์ มีนักศึกษาจบการศึกษารุ่นแรก ในปี พ.ศ. 2521 จำนวน 2 คน

พ.ศ. 2520

 - คณะจิตรกรรมฯ จัดแสดงศิลปกรรมอาจารย์คณะจิตรกรรมฯ ครั้งที่ 1 ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นประธานในพิธีเปิดเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2520 ณ อาคารภาควิชาประติมากรรม คณะจิตรกรรมฯ

พ.ศ. 2523

 - ผู้ช่วยศาสตราจารย์ชลูด นิ่มเสมอ หมดวาระการดำรงตำแหน่งคณบดี คณะจิตรกรรมฯ
- ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประหยัด พงษ์ดำ ดำรงตำแหน่งคณบดีคณะจิตรกรรมฯ เป็นคนที่ 3

พ.ศ. 2527

 - ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประหยัด พงษ์ดำ หมดวาระการดำรงตำแหน่งคณบดี คณะจิตรกรรมฯ
- อาจารย์นนทิวรรธน์ จันทนะผะลิน ดำรงตำแหน่งคณบดีคณะจิตรกรรมฯ เป็นคนที่ 4

พ.ศ. 2529

 - คณะจิตรกรรมฯ ปรับปรุงหลักสูตรใหม่ เปลี่ยนโครงสร้างจำนวนหน่วยกิต นักศึกษาในระดับปริญญา เลือกศึกษาสาขาวิชาเอกและสาขาวิชาโทอย่างละหนึ่งสาขาวิชา มหาวิทยาลัยเปลี่ยนแปลงกลุ่มวิชาพื้นฐานทั่วไปใหม่แบ่งออกเป็น 4 กลุ่มวิชา มีวิชาสังคมศาสตร์ วิชามนุษยศาสตร์ วิชาภาษาศาสตร์ และวิชาวิทยาศาสตร์คณิตศาสตร์

พ.ศ. 2530

 - คณะจิตรกรรมฯ เปิดหลักสูตรการศึกษาภาควิชาทฤษฎีศิลป์ เพื่อรวบรวมรายวิชาทฤษฎีศิลป์เข้าไว้ด้วยกัน และเพื่อผลิตบัณฑิตทางด้านวิชาการและการวิจารณ์ศิลปะ

พ.ศ. 2531

 - อาจารย์นนทิวรรธน์ จันทนะผะลิน หมดวาระการดำรงตำแหน่งคณบดี คณะจิตรกรรมฯ
- รองศาสตราจารย์สุรศักดิ์ เจริญวงศ์ ดำรงตำแหน่งคณบดีคณะจิตรกรรมฯ คนที่ 5
- คณะจิตรกรรมฯ จัดตั้งหอศิลป์ของคณะจิตรกรรมฯ ขึ้น และเปิดการแสดงศิลปกรรมของอาจารย์คณะจิตรกรรมฯ เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2531 โดยมีนโยบายที่จะสนับสนุนการแสดงผลงานของคณาจารย์ และนักศึกษาของคณะฯ รวมทั้งบุคคลภายนอกที่มีผลงานได้มาตรฐาน
- คณะจิตรกรรมฯ เปิดหลักสูตรศิลปมหาบัณฑิต สาขาวิชาศิลปไทย

พ.ศ. 2534

 - รองศาสตราจารย์สุรศักดิ์ เจริญวงศ์ ลาออกจากตำแหน่งคณบดีคณะจิตรกรรมฯ
- รองศาสตราจารย์ประหยัด พงษ์ดำ รักษาการในตำแหน่งคณบดีคณะจิตรกรรมฯ เป็นการชั่วคราว
- อาจารย์พิษณุ ศุภนิมิตร ดำรงตำแหน่งคณบดีคณะจิตรกรรมฯ คนที่ 6

พ.ศ. 2535

 - คณะจิตรกรรมฯ และมหาวิทยาลัยศิลปากร จัดงานเฉลิมฉลองเนื่องในวาระครบรอบ 100 ปี ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี มีนิทรรศการศิลปกรรม การประชุมสัมมนาทางวิชาการ การจัดพิมพ์เอกสารทางวิชาการ ในการนี้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินมาเป็นองค์ประธานและทรงเขียนภาพพระราชทาน ณ หอศิลป์คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2535

พ.ศ. 2536

 - คณะจิตรกรรมฯ และมหาวิทยาลัยศิลปากร จัดงานเฉลิมฉลองเนื่องในวาระครบรอบ 50 ปี มหาวิทยาลัยศิลปากร และในโอกาสนี้คณะจิตรกรรมฯ ได้จัดแสดงนิทรรศการศิลปกรรม ครั้งที่ 10 ของอาจารย์คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร อาจารย์ประจำและอาจารย์พิเศษจำนวน 50 ท่าน ได้ร่วมใจกันสร้างสรรค์ผลงานเพื่อเป็นบันทึกทางประวัติศาสตร์ 50 ปี คณะจิตรกรรมฯ สร้างอุทิศแก่ ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ผู้เป็นบิดาของศิลปกรรมร่วมสมัยของไทย ชื่อผลงานคือ 50 ปี : 50 จินตภาพ ติดตั้งถาวรที่ธนาคารไทยพาณิชย์ สำนักงานใหญ่

พ.ศ. 2538

 - อาจารย์พิษณุ ศุภนิมิตร หมดวาระการดำรงตำแหน่งคณบดีคณะจิตรกรรมฯ
- อาจารย์นนทิวรรธน์ จันทนะผะลิน ดำรงตำแหน่งคณบดีคณะจิตรกรรมฯ เป็นคนที่ 7

พ.ศ. 2541

 - คณะจิตรกรรมฯ จัดพิมพ์หนังสือ “ศิลปะรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1 – 8” และ “ศิลปะรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 9” เนื่องในปีมหามงคลสมัยฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ

พ.ศ. 2542

 - อาจารย์นนทิวรรธน์ จันทนะผะลิน หมดวาระการดำรงตำแหน่งคณบดีคณะจิตรกรรมฯ
- ผู้ช่วยศาสตราจารย์ปรีชา เถาทอง ดำรงตำแหน่งคณบดีคณะจิตรกรรมฯ เป็นคนที่ 8
- คณะจิตรกรรมฯ จัดโครงการ “ทัศนศิลป์เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เนื่องในวาระมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติหอศิลป ถนนเจ้าฟ้า
- คณะจิตรกรรมฯ ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข จัดโครงการเผยแพร่พระราชกรณียกิจสมเด็จพระศรี- นครินทราบรมราชชนนี 100 ปี ในการจัดสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี มอบแก่วิทยาลัยพยาบาล 34 แห่ง

พ.ศ. 2543

 - การจัดแสดงนิทรรศการศิลปกรรมครั้งที่ 17 ของอาจารย์คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร อาจารย์ประจำและอาจารย์พิเศษ ร่วมกันสร้างสรรค์ผลงานศิลปกรรมชื่อ “กำแพงแห่งศรัทธา” เป็นผลงานชิ้นใหญ่ติดตั้งถาวรที่ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) รายได้จากการจำหน่ายผลงานชุดกำแพงศรัทธา นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ โดยเสด็จพระราชกุศลตามพระราชอัธยาศัย

พ.ศ. 2544

 - พระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์ ทรงเข้าศึกษาในคณะจิตรกรรมฯ มหาวิทยาลัยศิลปากร ประจำปีการศึกษา 2544
- พระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์ และพระสหาย จัดแสดงผลงานศิลปกรรม “11 Calamity” ณ หอศิลป์คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
- คณะจิตรกรรมฯ ได้รับอนุมัติจากทบวงมหาวิทยาลัย ในการดำเนินการแยกสอบวิชาเฉพาะ ในการสอบคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา ตั้งแต่ปีการศึกษา 2545 เป็นต้นไป

พ.ศ. 2545

 - การจัดแสดงนิทรรศการศิลปกรรมครั้งที่ 19 ของอาจารย์คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร อาจารย์ประจำและอาจารย์พิเศษ ได้ร่วมสร้างสรรค์ผลงานชื่อ “ศิลปกรรมดินเผา 60 ปี คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร” ติดตั้งผลงานที่ด้านหน้าอาคารจิตรกรรม 1 เนื่องในโอกาสที่คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร มีอายุครบ 60 ปี ในปีพุทธศักราช 2546

พ.ศ. 2546

 - คณะจิตรกรรมฯ มีอายุครบ 60 ปี จัดนิทรรศการโครงการมหกรรมศิลปกรรม นักศึกษาคณะจิตรกรรมฯ มหาวิทยาลัยศิลปากร (ป.ตรี – ป.โท) เนื่องในโอกาสครบรอบ 60 ปี และในปีการศึกษา 2546 คณะฯ ได้ดำเนินการจัดโครงการเนื่องในโอกาสที่คณะจิตรกรรมฯ มีอายุครบ 60 ปี ทั้งหมด 6 โครงการคือ 1. โครงการมหกรรมศิลปกรรมของนักศึกษาคณะจิตรกรรมฯ มหาวิทยาลัยศิลปากร (ป.ตรี – ป.โท) เนื่องในโอกาสครบรอบ 60 ปี คณะจิตรกรรมฯ มหาวิทยาลัยศิลปากร 2. โครงการนิทรรศการศิลปกรรมร่วมสมัย 60 ปี คณะจิตรกรรมฯ มหาวิทยาลัยศิลปากร 3. โครงการสร้างสรรค์ศิลปกรรมระหว่างชาติ 4. โครงการนิทรรศการศิลปกรรมของอาจารย์คณะจิตรกรรมฯ มหาวิทยาลัยศิลปากร ในวาระ ครบ 60 ปี “ศิลปกรรมสุวรรณภูมิ” 5. โครงการผลิตตำรา – วารสาร – บทความทางวิชาการศิลปะ เนื่องในวาระครบรอบ 60 ปี คณะจิตรกรรมฯ มหาวิทยาลัยศิลปากร 6. โครงการศิลปกรรมอาจารย์คณะจิตรกรรมฯ มหาวิทยาลัยศิลปากร ครั้งที่ 20
- ผู้ช่วยศาสตราจารย์ปรีชา เถาทอง หมดวาระการดำรงตำแหน่งคณบดีคณะจิตรกรรมฯ
- ศาสตราจารย์ธนะ เลาหกัยกุล ดำรงตำแหน่งคณบดีคณะจิตรกรรมฯ คนที่ 9

พ.ศ. 2547

 - ศาสตราจารย์ธนะ เลาหกัยกุล ลาออกจากตำแหน่งคณบดีคณะจิตรกรรมฯ
- รองศาสตราจารย์สุรศักดิ์ เจริญวงศ์ รักษาการในตำแหน่งคณบดีคณะจิตรกรรมฯ เป็นการชั่วคราว
- อาจารย์ปัญญา วิจินธนสาร ดำรงตำแหน่งคณบดีคณะจิตรกรรมฯ คนที่ 10

พ.ศ. 2548

 - พระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์ ทรงสำเร็จการศึกษาปริญญาศิลปบัณฑิต สาขาวิชาภาพพิมพ์ เกียรตินิยมอันดับ 2 ในปีการศึกษา 2548

พ.ศ. 2549

 - คณะจิตรกรรมฯ เปิดหลักสูตรศิลปมหาบัณฑิต สาขาวิชาทฤษฎีศิลป์ รับนักศึกษาเข้าศึกษาในหลักสูตรศิลปมหาบัณฑิต สาขาวิชาทฤษฎีศิลป์ ครั้งแรกในภาคการศึกษา 2/2549

พ.ศ. 2550

 - คณะจิตรกรรมฯ ดำเนินการปรับปรุงหลักสูตรศิลปมหาบัณฑิต สาขาวิชาศิลปไทย และเริ่มใช้ในภาคการศึกษา 1/2551

พ.ศ. 2551

 - พระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์ ทรงเข้าศึกษาในคณะจิตรกรรมฯ ระดับปริญญามหาบัณฑิต สาขาวิชาศิลปไทย ในหลักสูตรศิลปมหาบัณฑิต สาขาวิชาศิลปไทย (ฉบับปรับปรุง 2551) ในแผน ก แบบ ก1
- คณะจิตรกรรมฯ ดำเนินการปรับปรุงหลักสูตรศิลปบัณฑิต ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2544 เป็นหลักสูตรศิลปบัณฑิต สาขาวิชาทัศนศิลป์ และเริ่มใช้หลักสูตรใหม่ในภาคการศึกษา 1/2551
- คณะจิตรกรรมฯ ร่วมกับคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร จัดตั้งหลักสูตรศิลปมหาบัณฑิต สาขาวิชาทัศนศิลปศึกษา โดยอยู่ระหว่างรอการอนุมัติจากสภามหาวิทยาลัยศิลปากร
- คณะจิตรกรรมฯ ปรับปรุงหลักสูตรศิลปมหาบัณฑิต สาขาวิชาจิตรกรรม สาขาวิชาประติมากรรม สาขาวิชาภาพพิมพ์ สาขาวิชาศิลปไทย เป็นหลักสูตรศิลปมหาบัณฑิต สาขาวิชาทัศนศิลป์ โดยอยู่ระหว่างรอการอนุมัติจากสภามหาวิทยาลัยศิลปากร

พ.ศ. 2552

 - อาจารย์ปัญญา วิจินธนสาร หมดวาระการดำรงตำแหน่งคณบดีคณะจิตรกรรมฯ
- รองศาสตราจารย์ปริญญา ตันติสุข ดำรงตำแหน่งคณบดีคณะจิตรกรรมฯ คนที่ 11 เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2552
- คณะจิตรกรรมฯ ปรับปรุง ปณิธาน ปรัชญา วัตถุประสงค์ พันธกิจ และวิสัยทัศน์ โดยมติคณะกรรมการประจำคณะจิตรกรรมฯ และผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมอาจารย์ทั้งคณะ
- คณะจิตรกรรมฯ ปรับปรุงหลักสูตรศิลปมหาบัณฑิต สาขาวิชาจิตรกรรม สาขาวิชาประติมากรรม สาขาวิชาภาพพิมพ์ สาขาวิชาศิลปะไทย เป็นหลักสูตรศิลปบัณฑิตศึกษา สาขาวิชาทัศนศิลป์ ผ่านความเห็นชอบจากสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา และเริ่มใช้หลักสูตรใหม่ในภาคการศึกษา 1/2552
- การจัดแสดงนิทรรศการศิลปกรรมของอาจารย์คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ครั้งที่ 26 โดยร่วมกันสร้างสรรค์ผลงานศิลปกรรมแก้ว ชื่อ “โคมแก้วแห่งความสุกใส” เป็นผลงานชิ้นใหญ่ติดตั้งถาวรที่ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน)
- คณะจิตรกรรมฯ ร่วมกับคณะศึกษาศาสตร์เปิดหลักสูตรศิลปมหาบัณฑิต สาขาวิชาทัศนศิลป์ศึกษา โดยรับนักศึกษาเข้าศึกษาในหลักสูตรศิลปมหาบัณฑิต สาขาวิชาทัศนศิลปศึกษา ครั้งแรกในภาคการศึกษา 2/2552

พ.ศ. 2553

 - คณะจิตรกรรมฯ ปรับปรุงโครงสร้างการแบ่งส่วนราชการสำนักงานเลขานุการเพื่อให้สอดรับกับการดำเนินงานส่วนวังท่าพระ และวิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ รวมทั้งภารกิจของสถาบันการศึกษาในปัจจุบัน เช่น การประกันคุณภาพการศึกษา
- การจัดแสดงนิทรรศการศิลปกรรมของอาจารย์คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ครั้งที่ 27 โดยน้อมนำพระราชดำรัสเกี่ยวกับเรื่อง “หน้าที่” ร่วมกันสร้างสรรค์ผลงานศิลปกรรมภายใต้หัวข้อ “CHAIR – SHARE”
- คณะจิตรกรรมฯ ดำเนินการร่างหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาทัศนศิลป์
- คณะจิตรกรรมฯ ดำเนินการโครงการจัดตั้งสมาคมนักศึกษาเก่าคณะจิตรกรรมฯ

พ.ศ. 2554

 - พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์ มหิดล สำเร็จการศึกษาหลักสูตรศิลปมหาบัณฑิต สาขาวิชาศิลปไทย และคณะจิตรกรรมฯ ได้จัดนิทรรศการ จิตรกรรมฝาผนังล้านนา เรื่อง “พระมหาชนก” จากบทพระราชนิพนธ์ ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช โดย พระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์ มหิดล
- หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาทัศนศิลป์ ได้รับการอนุมัติจากสภามหาวิทยาลัย และรับนักศึกษาเป็นปีแรกในปีการศึกษา 2556
- การจัดแสดงนิทรรศการศิลปกรรมของอาจารย์คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ครั้งที่ 29 ภายใต้หัวข้อ “วาทศิลป์ พีระศรี” ซึ่งเป็นปีแห่งวาระครบ 120 ปี ชาตกาลศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี

พ.ศ. 2555

 - พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์ มหิดล สำเร็จการศึกษาหลักสูตรศิลปมหาบัณฑิต สาขาวิชาศิลปไทย และคณะจิตรกรรมฯ ได้จัดนิทรรศการ จิตรกรรมฝาผนังล้านนา เรื่อง “พระมหาชนก” จากบทพระราชนิพนธ์ ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช โดย พระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์ มหิดล
- หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาทัศนศิลป์ ได้รับการอนุมัติจากสภามหาวิทยาลัย และรับนักศึกษาเป็นปีแรกในปีการศึกษา 2556
- การจัดแสดงนิทรรศการศิลปกรรมของอาจารย์คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ครั้งที่ 29 ภายใต้หัวข้อ “วาทศิลป์ พีระศรี” ซึ่งเป็นปีแห่งวาระครบ 120 ปี ชาตกาลศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี

พ.ศ. 2556

 - ดำเนินการจัดการเรียนการสอนหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาทัศนศิลป์ และรับนักศึกษาเป็นปีแรก
- รองศาสตราจารย์ปริญญา ตันติสุข หมดวาระการดำรงตำแหน่งคณบดีคณะจิตรกรรมฯ
- อาจารย์อำมฤทธิ์ ชูสุวรรณ ดำรงตำแหน่งคณบดีคณะจิตรกรรมฯ คนที่ 12 ในวันที่19 พฤษภาคม 2556
- การจัดแสดงนิทรรศการศิลปกรรมของอาจารย์คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ครั้งที่ 30 ภายใต้หัวข้อ “ปฐมบท (The Beginning)”

พ.ศ. 2557

 การจัดแสดงนิทรรศการศิลปกรรมของอาจารย์คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ครั้งที่ 31 ภายใต้หัวข้อ "ASEAN WAY"

พ.ศ. 2558

 - การจัดแสดงนิทรรศการศิลปกรรมของอาจารย์คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ครั้งที่ 32 ภายใต้หัวข้อ “แรงบันดาลใจจาก สมเด็จพระเทพรัตน์ฯ”

พ.ศ. 2559

 - การจัดแสดงนิทรรศการศิลปกรรมของอาจารย์คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ครั้งที่ 33 ภายใต้หัวข้อ “ใต้ร่มพระบารมี”
- นักศึกษาระดับปริญญาเอก หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาทัศนศิลป์ สำเร็จการศึกษารุ่นแรก จำนวน 5 คน

พ.ศ. 2560

 - อาจารย์อำมฤทธิ์ ชูสุวรรณ หมดวาระการดำรงตำแหน่งคณบดีคณะจิตรกรรมฯ วันที่ 18 พฤษภาคม 2560
- ศาสตราจารย์ญาณวิทย์ กุญแจทอง ดำรงตำแหน่งคณบดีคณะจิตรกรรมฯ คนที่ 13 ในวันที่19 พฤษภาคม 2560
- ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ทรงเข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาเอก หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาทัศนศิลป์ ประจำปีการศึกษา 2560
- การจัดแสดง นิทรรศการศิลปกรรมของอาจารย์คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ครั้งที่ 34 ภายใต้หัวข้อ “ส่งเสด็จ”

พ.ศ. 2561

 - อาจารย์อำมฤทธิ์ ชูสุวรรณ หมดวาระการดำรงตำแหน่งคณบดีคณะจิตรกรรมฯ วันที่ 18 พฤษภาคม 2560
- ศาสตราจารย์ญาณวิทย์ กุญแจทอง ดำรงตำแหน่งคณบดีคณะจิตรกรรมฯ คนที่ 13 ในวันที่19 พฤษภาคม 2560
- ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ทรงเข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาเอก หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาทัศนศิลป์ ประจำปีการศึกษา 2560
- การจัดแสดง นิทรรศการศิลปกรรมของอาจารย์คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ครั้งที่ 34 ภายใต้หัวข้อ “ส่งเสด็จ”