เกี่ยวกับคณะฯ


Responsive image

มหาวิทยาลัยศิลปากร

“ศิลปากรเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำแห่งการสร้างสรรค์” คือวิสัยทัศน์ที่ชาวศิลปากรยึดถือในการดำเนินงานการเรียนการสอนให้ครอบคลุมทั้งศาสตร์และศิลป์ ตลอดจนสร้างเสริมกิจกรรมทางการเรียนรู้ต่างๆ เพื่อให้ศิลปากรเป็นสถาบันที่พร้อมรับความเปลี่ยนแปลง สามารถตอบสนองความต้องการของสังคมและเดินหน้าสู่ความเป็นเลิศในระดับอาเซียนผลิตบัณฑิตที่มีความรู้ความสามารถ รู้จักประยุกต์ใช้ความรู้อย่างสร้างสรรค์ได้ในระดับนานาชาติ

แต่ก่อนจะมาเป็น มหาวิทยาลัยศิลปากร สถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาชั้นนำของรัฐดังเช่นปัจจุบัน ศิลปากรมีรากฐานมาจากการเรียนการสอนศิลปะในโรงเรียนประณีตศิลปกรรม ที่อำนวยการสอนโดย ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี (นามเดิม Corrado Feroci) ประติมากรชาวอิตาเลียนจากเมืองฟลอเรนซ์ ซึ่งได้รับการคัดเลือกเข้ารับราชการในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ในเวลาต่อมาโรงเรียนประณีตศิลปกรรมได้เปลี่ยนชื่อเป็น โรงเรียนศิลปากรแผนกช่าง ดำเนินการสอนศิลปะสมัยใหม่ให้แก่ข้าราชการ และเยาวชนไทย จนความรู้ความสามารถของนักเรียน และคุณค่าของผลงานศิลปะเป็นที่ประจักษ์ จึงได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยศิลปากร มหาวิทยาลัยศิลปะแห่งแรกของประเทศไทย บนพื้นที่บริเวณวังท่าพระ ซึ่งเคยเป็นที่ประทับของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ในปี พ.ศ.2486 โดยมีคณะจิตรกรรมและประติมากรรมเป็นคณะวิชาแรก ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นคณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์


นอกจากคณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์แล้ว ภายในวังท่าพระยังประกอบด้วยคณะวิชาทางด้านศิลปะและวัฒนธรรม อย่างคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ คณะโบราณคดี และคณะมัณฑนศิลป์ รวมถึงแหล่งข้อมูลสำคัญทางศิลปะอย่างหอสมุดวังท่าพระ หอศิลป์มหาวิทยาลัยศิลปากร หอศิลป์คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ หอศิลปะ สถาปัตยกรรมพระพรหมพิจิตร และหอศิลปะและการออกแบบ คณะมัณฑนศิลป์ อยู่ร่วมกันภายใต้บรรยากาศอันร่มรื่นแวดล้อมด้วยสถาปัตยกรรมทางประวัติศาสตร์ของวังท่าพระ ตึกพรรณราย ท้องพระโรง ศาลาดนตรี

รวมไปถึงสวนแก้ว ที่ปัจจุบันประยุกต์เป็นสวนประติมากรรมติดตั้งผลงานที่มีชื่อเสียง ซึ่งต่างก็ช่วยสนับสนุนส่งต่อความคิดสร้างสรรค์ให้กับนักศึกษาในสถาบัน ทำให้มหาวิทยาลัยศิลปากรกลายเป็นศูนย์กลางสำคัญแห่งการเรียนรู้การค้นคว้า รวมถึงการแสดงออกทางศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยอย่างกว้างขวาง

นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยศิลปากรยังได้จัดให้มีการประกวดผลงานศิลปกรรมในระดับประเทศ คือ การแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ และการแสดงศิลปกรรมร่วมสมัยของศิลปินรุ่นเยาว์ เพื่อให้เป็นเวทีสนับสนุนศิลปินรุ่นใหม่ ส่งผลให้ศิลปากรมีผลงานศิลปะสะสมที่มาจากเวทีดังกล่าว ตลอดจนมีการสะสมผลงานอื่นๆ ตามมาอย่างต่อเนื่องและเพื่อการพัฒนามหาวิทยาลัยให้มีหลักสูตรการเรียนการสอนที่เป็นสากลครบถ้วนทั้งศาสตร์และศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากรจึงจัดตั้งคณะวิชาในสาขามนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ขึ้นที่วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ จังหวัดนครปฐม

รวมทั้งจัดตั้งคณะดุริยางคศาสตร์ เปิดสอนวิชาการดนตรีขึ้นที่ สำนักงานอธิการบดี ตลิ่งชัน นอกจากนี้ยังได้กระจายการศึกษาไปสู่ภูมิภาคที่จังหวัดเพชรบุรี ใช้ชื่อว่าวิทยาเขตสารสนเทศเพชรบุรี เพื่อส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ในสาขาวิชาที่ตอบสนองความต้องการของสังคมร่วมสมัยมากขึ้น

คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์
ความรู้จากฟลอเรนซ์

Responsive image

ความรู้จากฟลอเรนซ์

‘คณะจิตรกรรมและประติมากรรม’ คือคณะวิชาแรกที่ก่อตั้งขึ้นมาพร้อมกับมหาวิทยาลัยศิลปากร โดยในระยะเริ่มต้น เปิดให้มีการเรียนการสอนศิลปะหลักสูตร ‘ภาควิชาจิตรกรรม’ และ ‘ภาควิชาประติมากรรม’ ซึ่งสืบต่อมาจากโรงเรียนประณีตศิลปกรรม โดยมี ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี เป็นคณบดีคนแรก และเป็นผู้ส่งต่อองค์ความรู้ทั้งภาคปฏิบัติและภาคทฤษฎี ตามมาตรฐานหลักวิชาการศิลปะตะวันตก (academic art) จากสถาบันศิลปะฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี สู่เยาวชนไทยในรั้วของคณะจิตรกรรมฯ

ในเวลาต่อมา ด้วยรูปแบบการสร้างสรรค์และการแสดงออกที่น่าสนใจของศิลปะภาพพิมพ์ จึงเกิดการผลักดันให้จัดตั้ง ‘ภาควิชาภาพพิมพ์’ ขึ้น ซึ่งเป็นเหตุให้ชื่อคณะเปลี่ยนมาเป็น คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ ดังเช่นในปัจจุบัน นอกจากนี้ ด้วยจุดมุ่งหมายที่จะอนุรักษ์ สืบสาน และพัฒนาองค์ความรู้เกี่ยวกับศิลปะไทย จึงก่อตั้ง ‘ภาควิชาศิลปไทย’ รวมถึงตั้ง ‘ภาควิชาทฤษฎีศิลป์’ ขึ้นเป็นลำดับถัดมา เพื่อรวบรวมจัดการเรียนการสอนในวิชาทฤษฎีให้เป็นระบบ และมีความเข้มข้นมากยิ่งขึ้น

จนเมื่อศิลปะประเภทสื่อผสม รวมถึงศิลปะสื่อใหม่ได้เข้ามามีอิทธิพลต่อความคิดความสนใจของนักศึกษามากขึ้น คณะจิตรกรรมฯ จึงเปิด ‘โครงการจัดตั้งภาควิชาสื่อผสม’ขึ้นมา เพื่อตอบรับกับความสนใจนั้น ตลอดจนสนับสนุนให้เกิดการสร้างสรรค์ผลงานที่มีคุณภาพ อย่างไรก็ดี คณะจิตรกรรมฯ ยังคงตระหนักถึงความสำคัญของพื้นฐานทักษะทางทัศนศิลป์ ซึ่งจะมีผลต่อการศึกษาศิลปะในระยะยาว จึงจัดตั้ง ‘โครงการภาควิชาแกนทัศนศิลป์’ ขึ้นมาเสริมสร้างทักษะให้กับนักศึกษารุ่นใหม่ที่มีพื้นฐานความรู้ต่างกัน ซึ่งจะนำไปสู่การประยุกต์ใช้ความรู้ เพื่อสร้างงานศิลปะในแขนงต่างๆ ได้อย่างโดดเด่นมีเอกลักษณ์

คณะจิตรกรรมฯ ไม่เพียงแต่จะมุ่งจัดการเรียนการสอนเพื่อผลิตศิลปิน หรือนักวิชาการทางศิลปะเท่านั้น แต่ยังเล็งเห็นความสำคัญของการบริการความรู้อย่างยั่งยืน จึงร่วมบูรณาการความรู้กับคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เปิดหลักสูตร ‘สาขาวิชาทัศนศิลป์ศึกษา’ในระดับปริญญาโท เพื่อผลิตบุคลากรที่มีความรู้ทางทัศนศิลป์ และสามารถดำเนินการสอนศิลปะได้โดยเฉพาะ นอกจากนี้ เพื่อการพัฒนาบุคลากรอย่างสมบูรณ์แบบ คณะจิตรกรรมฯจึงได้เปิดหลักสูตรปริญญาเอก ‘สาขาวิชาทัศนศิลป์’ เพื่อเสริมสร้างบุคคลากรทางศิลปะที่มีความรู้ความสามารถในการสร้างองค์ความรู้ใหม่ เป็นผู้นำในการสร้างสรรค์ และมีความสามารถในการวิจัยทางทัศนศิลป์ขั้นสูง อันเป็นจะกำลังสำคัญ และเป็นต้นแบบทางการศึกษาศิลปะในวงการศิลปะร่วมสมัยต่อไป

คณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ กับยุคปัจจุบัน

มหาวิทยาลัยศิลปากร ที่ให้มากกว่าความรู้
มหาวิทยาลัยศิลปากร (Silpakorn University) เป็นมหาวิทยาลัยศิลปะแห่งแรกของประเทศไทย และเป็น มหาวิทยาลัยแห่งที่ห้าของประเทศไทย มีชื่อเสียงทางด้านศิลปะและการออกแบบ ปัจจุบันเปิดสอนครอบคลุมทุกสาขาวิชา ทั้งกลุ่มสาขาสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ กลุ่มสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และกลุ่มสาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพ ตามมาตรฐานของมหาวิทยาลัยสากลอย่างสมบูรณ์


ข้อมูลเมื่อ : 15 ตุลาคม 2561

ความน่าสนใจของคณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

"คณะจิตรกรรมและประติมากรรม" คือคณะวิชาแรกที่ก่อตั้งขึ้นมาพร้อมกับ มหาวิทยาลัยศิลปากร โดยในระยะเริ่มต้น เปิดให้มีการเรียนการสอนศิลปะหลักสูตรภาควิชาจิตรกรรมและภาควิชาประติมากรรม ซึ่งสืบต่อมาจากโรงเรียนประณีตศิลปกรรม โดยมี ศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี เป็นคณบดีคนแรก และเป็นผู้ส่งต่อองค์ความรู้ทั้งภาคปฏิบัติและภาคทฤษฎี ตามมาตรฐานหลักวิชาการศิลปะตะวันตก (academic art) จากสถาบันศิลปะฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี สู่เยาวชนไทยในรั้วของคณะจิตรกรรมและประติมากรรม


ข้อมูลเมื่อ : 15 ตุลาคม 2561

Responsive image

หนึ่งสถาบัน สองแหล่งเรียนรู้

คุณค่าของงานศิลปะและศักยภาพของบัณฑิตที่จบการศึกษาจากคณะจิตรกรรมฯ แสดงให้เห็นเป็นที่ประจักษ์แก่สังคมไทยมาโดยตลอด ทำให้ในปัจจุบันมีเยาวชนที่ต้องการเข้ามาศึกษาในคณะจิตรกรรมฯ เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง และด้วยเหตุนี้ คณะจิตรกรรมฯ จึงขยายเขตพื้นที่การศึกษาจากวังท่าพระออกไปยังวิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ โดยยึดมั่นในจุดมุ่งหมายเดียวกัน คือสร้างกิจกรรมทางการศึกษาที่มีประสิทธิภาพ สร้างรูปแบบการเรียนการสอนที่ครอบคลุมหลากหลาย ซึ่งจะสามารถส่งเสริมศักยภาพของผู้เรียนได้อย่างเต็มที่

รากฐานที่วังท่าพระ

เนื่องจากวังท่าพระเป็นจุดเริ่มต้นของคณะจิตรกรรมฯ และถือเป็นจุดเริ่มของการศึกษาศิลปะสมัยใหม่ของประเทศ คณะจิตรกรรมฯ วังท่าพระ จึงเป็นดั่งหน้าหนึ่งที่สำคัญของประวัติศาสตร์ศิลปะไทย เป็นแหล่งรวบรวมความรู้ภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติไว้อย่างครบถ้วน โดยพื้นที่ด้านหน้าคณะเป็นที่ตั้งของอนุสาวรีย์ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี โอบล้อมด้วยบรรยากาศการเรียนการสอนศิลปะจากอาคารเรียนของคณะจิตรกรรมฯ ซึ่งแบ่งพื้นที่ออกเป็นอาคารปฏิบัติงานภาควิชาประติมากรรม มีการสอนสร้างสรรค์ประติมากรรมรูปเหมือน และผลงาน 3 มิติ รูปแบบอื่นๆ นอกเหนือจากนี้ยังมีอาคารเรียนอีก 3 อาคาร จัดให้เป็นพื้นที่ปฏิบัติงานจิตรกรรมสำหรับนักศึกษา และเปิดกว้างเพื่อจัดโครงการอบรมจิตรกรรมสำหรับบุคคลภายนอก นอกจากนี้ ยังมีห้องปฏิบัติงานภาพพิมพ์หลายเทคนิคที่สามารถตอบสนองความสนใจของผู้เรียนได้ครบถ้วน มีห้องปฏิบัติงานศิลปไทย ห้องเรียนกายวิภาค ศูนย์รวบรวมข้อมูลศิลปะ และห้องบรรยายทางทฤษฎีศิลป์ที่พร้อมด้วยโสตทัศนูปกรณ์ สามารถรองรับการเรียนการสอน และการนำเสนอผลงานของผู้เรียนทุกรูปแบบ โดยมีสำนักงานเลขานุการคณะจิตรกรรมฯ วังท่าพระ เป็นฝ่ายสนับสนุนให้กิจการของคณะดำเนินไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ต่อยอดที่พระราชวังสนามจันทร์

อาคารศูนย์ปฏิบัติการทัศนศิลป์สิรินธร มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ เป็นอีกหนึ่งที่ตั้งของห้องปฏิบัติงานทางทัศนศิลป์ของคณะจิตรกรรมฯ มีการจัดตั้งสำนักงานเลขานุการคณะจิตรกรรมฯ วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ ขึ้นมาดูแลโดยเฉพาะ ทางคณะมีแนวคิดให้ความสำคัญกับบรรยากาศอันผ่อนคลาย ซึ่งส่งเสริมต่อการเรียนรู้ในเชิงสร้างสรรค์ และให้การสนับสนุนสิ่งอำนวยความสะดวกที่เหมาะสมต่อการปฏิบัติงานในภาควิชา ต่างๆ อย่างครบถ้วน อาทิอาคารโรงหล่อโลหะของภาควิชาประติมากรรม ห้องปฏิบัติงานประติมากรรม เพื่อรองรับการสร้างงานปั้น-หล่อเทคนิคต่างๆ ห้องปฏิบัติงานโลหะ ไม้ และหิน ห้องปฏิบัติการเทคนิคภาพพิมพ์ ซึ่งพรั่งพร้อมด้วยวัสดุอุปกรณ์ และพื้นที่ใช้สอย ห้องปฏิบัติงานสำหรับภาควิชาจิตรกรรม และศิลปไทย ตลอดจนห้องบรรยายจำนวนมากที่พร้อมรองรับการเรียนการสอนเชิงทฤษฎี ทั้งแบบกลุ่มใหญ่และกลุ่มย่อย ห้องฉายภาพยนตร์ ห้องอัดเสียง ห้องมืด ห้องปฏิบัติงานสื่อผสม ห้องคอมพิวเตอร์ที่ทันสมัย ห้องปฏิบัติงานแก้ว ห้องพักสำหรับนักศึกษา และห้องข้อมูลเพื่อการสืบค้นเชิงศิลปะ ซึ่งให้บริการแก่คณาจารย์ และนักศึกษา


เรามีต้นแบบแห่งการเรียนรู้

จุดเด่นสำคัญอีกประการของการเรียนการสอนที่คณะจิตรกรรมฯ อยู่ที่อาจารย์ประจำและอาจารย์พิเศษของคณะทุกท่าน ที่ต่างก็เป็นผู้มีความรู้ความสามารถขั้นสูงในสาขาที่รับผิดชอบ และเป็น ผู้ที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง โดยมีทั้งผู้ทรงคุณวุฒิระดับศิลปินแห่งชาติ ศิลปินผู้มีชื่อเสียง ตลอดจนศิลปินรุ่นใหม่ที่มีแนวทางการสร้างสรรค์เป็นของตนเอง รวมไปถึงนักวิชาการด้านศิลปกรรม และผู้มีประสบการณ์ต่างๆในวงการศิลปะ จากทั้งในประเทศและต่างประเทศ

โดยคณาจารย์ทุกท่านต่างยึดมั่นในพันธกิจหลัก 4 ประการ คือ การจัดการเรียน การสอน การสร้างสรรค์ และการวิจัย การบริการวิชาการแก่ชุมชน และการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม ในส่วนของ ‘การจัดการเรียนการสอน’ คณาจารย์ทุกท่านล้วนมุ่งมั่นถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่ผู้เรียนอย่างเต็มความสามารถ ควบคู่ไปกับการ ‘พัฒนางานสร้างสรรค์หรืองานวิจัย’ ของตนเองให้โดดเด่น แล้วนำเสนอผลงานนั้นสู่สาธารณชน ทั้งในรูปแบบนิทรรศการ หรือเอกสารทางวิชาการ โดยคณาจารย์ของคณะจิตรกรรมฯ ได้รับเชิญเข้าร่วมแสดงผลงาน และเป็นวิทยากรผู้บรรยายในระดับชาติและระดับนานาชาติมากมาย ซึ่งถือเป็นแบบอย่างสำคัญของการเรียนรู้ และก่อให้เกิดแรงจูงใจเชิงสร้างสรรค์ตามมา นอกเหนือจากการถ่ายทอดความรู้ผ่านคณาจารย์ของคณะแล้ว คณะจิตรกรรมฯ ยังจัดให้มีโครงการเสวนา การบรรยายแลกเปลี่ยนประสบการณ์ กิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการ (workshop) กับผู้เชี่ยวชาญทั้งชาวไทย และชาวต่างชาติ โดยทิศทางของกิจกรรมจะสอดคล้องไปกับหลักสูตรการศึกษา จึงนับเป็นโอกาสสำคัญให้ผู้เรียนได้ศึกษาจากประสบการณ์จริงของผู้เชี่ยวชาญในแต่ละสาขาด้วย

Responsive image

ระหว่างการศึกษาในคณะจิตรกรรมฯ นอกจากผู้เรียนจะได้รับความรู้จากคณาจารย์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านศิลปวัฒนธรรม และสาขาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างเต็มประสิทธิภาพแล้ว หลักสูตรการศึกษายังเปิดโอกาสให้ผู้เรียนแสดงความคิดเห็น แสดงความสามารถในด้านที่ตนเองถนัดหรือสนใจ ผ่านผลงานสร้างสรรค์ระหว่างเรียน หรือในรูปแบบโครงการกิจกรรมต่างๆ ที่ผู้เรียนคิดริเริ่มดำเนินการ อาทิ กิจกรรมเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างหมู่คณะ กิจกรรมสร้างเครือข่ายศิลปะ กิจกรรมศิลปะกับชุมชน กิจกรรมวันรำลึกอาจารย์ศิลป์ พีระศรี การแสดงผลงานศิลปะของแต่ละภาควิชา การแสดงศิลปนิพนธ์ หรือโครงการจิตอาสาเพื่อการศึกษา และการพัฒนานอกสถานที่ อันเป็นการขยายขอบเขตองค์ความรู้ เพิ่มพูนความคิดสร้างสรรค์นำไปสู่การแสดงออกทางศิลปะที่มีคุณค่า จนเป็นที่ประจักษ์ได้ในสังคม ดังที่ศิษย์ปัจจุบัน และศิษย์เก่าของคณะจิตรกรรมฯ หลายท่าน มุ่งมั่นในการเรียนรู้และการปฏิบัติงาน จนประสบความสำเร็จได้รับรางวัลจากการประกวดศิลปกรรมแห่งชาติ รวมถึงได้รับรางวัลจากเวทีอันทรงเกียรติอื่นๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศเสมอมา นอกจากนี้ ศิษย์เก่าจากคณะจิตรกรรมฯอีกหลายท่าน ยังพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง จนได้รับการยกย่องให้เป็นศิลปินแห่งชาติ ศิลปินชั้นเยี่ยม ได้รับการยอมรับในฐานะนักคิด นักเขียน นักวิชาการ และเป็นศิลปินที่มีชื่อเสียง

สำหรับ ‘การบริการวิชาการแก่ชุมชน’ คณะจิตรกรรมฯ และคณาจารย์ได้สนับสนุนให้มีโครงการจิตอาสาร่วมกับชุมชนอย่างต่อเนื่องสมํ่าเสมอ โดยมีเป้าหมายให้บุคคลากรใช้ความรู้ความเชี่ยวชาญของตนเองให้เป็นประโยชน์ต่อสังคม ด้วยการเข้าไปช่วยเหลือพัฒนาสังคมด้วยศิลปะ หรือส่งต่อความรู้แก่บุคคลทั่วไปในลักษณะกิจกรรมเชิงปฏิบัติการ ซึ่งเป็นการสร้างความสัมพันธ์อันดีกับชุมชนต่างๆ อันจะช่วย ‘ทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม’ สร้างค่านิยมดีงามให้เกิดขึ้นท่ามกลางสังคมวัฒนธรรมร่วมสมัยด้วยแนวทางเฉพาะของคณะจิตรกรรมฯ ที่เน้นการสร้างเสริมความรู้ให้เท่าทันยุคสมัย ตอกยํ้าทักษะทางศิลปะให้เข้มแข็ง มุ่งพัฒนาความคิดผู้เรียนให้สร้างสรรค์ พร้อมกับส่งต่อคุณค่าทางศิลปะสู่ชุมชน จะช่วยพัฒนาเสริมสร้างให้ผู้เรียนมีความพร้อมด้วยทัศนคติประสบการณ์ และความรู้ความสามารถเพื่อเดินหน้าเข้าเป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือทางวัฒนธรรมในประชาคมอาเซียนได้อย่างเข้มแข็ง ซึ่งถือเป็นการเปิดอีกเส้นทางหนึ่งสู่การนำเสนอศิลปะร่วมสมัยไทยบนเวทีระดับนานาชาติต่อไป