หอศิลป์บรมราชกุมารี ขอเชิญชมนิทรรศการแสดงผลงานสร้างสรรค์จากงานวิจัยเรื่อง
เครื่องกระดาษจีน : จากพิธีกรรมสู่ศิลปะร่วมสมัย
JOSS : From Festive to Contemporary Art
โดย อาจารย์นวัต เลิศแสวงกิจ
หมวดวิชาทัศนศิลป์ คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
>> จัดแสดง 6 - 26 กุมภาพันธ์ 2562 <<
เปิดให้เข้าชมวันจันทร์ - เสาร์ เวลา 9.00 - 16.30 น. ชมฟรี
ปิดวันอาทิตย์และวันหยุดนักขัตฤกษ์
พิธีเปิดนิทรรศการ วันพุธที่ 6 กุมภาพันธ์ 2562 เวลา 17.00 น.
ณ ห้อง Project Space I ชั้น 1 หอศิลป์บรมราชกุมารี คณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร พระราชวังสนามจันทร์ จังหวัดนครปฐม
Event >> https://www.facebook.com/events/359319684901257/
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
Facebook Page : Psg Art Gallery
www.facebook.com/psgartgallerysilpakorn/
. . . . . . . . . . . .
.
งานสร้างสรรค์นี้ได้รับทุนอุดหนุนการวิจัย/งานสร้างสรรค์คณะอักษรศาสตร์มหาวิทยาลัยศิลปากร พ.ศ.2562
.
เครื่องกระดาษที่ใช้ประกอบในพีธีกรรมจีน หรือที่นิยมเรียกกันว่ากระดาษเงินกระดาษทอง เป็นตัวแทนสำคัญอันหนึ่งที่แสดงถึงเอกลักษณ์เฉพาะตัวของกลุ่มคนเชื้อสายจีน ที่เราสามารถพบเห็นได้ในชีวิตประจำวัน นอกจากจะเป็นเครื่องแสดงเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมแล้วยังเป็นตัวแทนที่แสดงให้เห็นถึงปรัชญาการดำเนินชีวิต ความเชื่อทางศาสนา ความกตัญญู ซึ่งเป็นหลักคุณธรรมใหญ่อันหนึ่งของ ชาวจีนที่แฝงอยู่ในพิธีกรรมการเซ่นไหว้บรรพบุรุษ ความสัมพันธ์เหนียวแน่นในสถาบันครอบครัว รวมถึงบทบาทที่เครื่องกระดาษมีต่อพิธีกรรมเซ่นไหว้ต่างๆของชาวจีน ในฐานะอุปกรณ์สำคัญซึ่งจะขาดไปมิได้ จำเป็นจะต้องอาศัยองค์ความรู้ในการจัดแบ่งประเภทและวิธีการใช้ในรูปแบบต่างๆอย่างเป็นแบบแผน นอกจากจะเป็นเครื่องอำนวยความสะดวกในปรโลกแล้วยังมีบทบาท สะท้อนรูปแบบวิถีชีวิตร่วมสมัยของผู้คนอีกด้วย เฉพาะอย่างยิ่งกระดาษไหว้พิเศษหรือกระดาษ ไหว้เฉพาะกิจ มีการใช้เทคโนโลยีมาช่วยในการผลิต รวมถึงการนำหลักทฤษฎีทางศิลปะมาใช้ร่วมกับการออกแบบ เครื่องกระดาษจึงไม่เป็นเพียงอุปกรณ์สำหรับประกอบ พิธีกรรมทางศาสนาเท่านั้น แต่ยังสามารถแสดงถึงวัฒนธรรมร่วมสมัย ค่านิยม วิถีชีวิต ตลอดจนสถานะทาง สังคมของคนจีนโพ้นทะเลในยุคโลกาภิวัตน์ ผ่านการแสดงออกทางทัศนศิลป์ในฐานะวัตถุดิบทางศิลปะ ไม่ว่าจะเป็นทางอารมณ์ ความรู้สึก ความคิด ประสบการณ์ ความงาม การเห็นแจ้ง สัญลักษณ์ ความฝัน เรื่องราว หรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับการมีปฏิสัมพันธ์กับเครื่องกระดาษประกอบพิธีกรรมจีนมาเป็นแรงบันดาลใจในการทำผลงานสร้างสรรค์นี้
. . . . . . . . . .
.
ในฐานะอาจารย์สอนศิลปะและศิลปินรุ่นใหม่ ผลงานการสร้างสรรค์ของอาจารย์นวัตตลอดหลายปีที่ผ่านมาได้ตอกย้ำแนวคิดข้างต้นเป็นอย่างดี ด้วยที่อยู่ในวัยของการแสวงหาและอยากรู้อยากเห็น ความกล้าคิดกล้าทดลองและพร้อมจะสนุกและผจญภัยไปกับผลงานตัวเอง ถือเป็นแรงผลักดันอย่างดีในผลงานที่ผ่านมา ผลงานที่ทยอยออกมาปีแล้วปีเล่า จึงไม่ได้เป็นเพียงเรื่องของปริมาณเพื่อตอบสนองต่อภาระงานในฐานะอาจารย์สอนหนังสือ หากแต่แสดงถึงความพยายามริเริ่มไปสู่มุมมองและแนวทางการสร้างสรรค์ใหม่ๆเสมอ แน่นอนเราคงไม่ได้คาดหวังถึงความสามารถในการเปลี่ยนแปลงหรือสร้างปรากฏการณ์สำคัญ หากแต่การสร้างสรรค์เหล่านี้สามารถนำไปสู่กระบวนการเรียนรู้ และสร้างศักยภาพที่เข้มแข็งต่อความเข้าใจของสังคมในเชิงวัฒนธรรมถือเป็นสิ่งที่น่ายินดีและสนับสนุน การสังเคราะห์ปรากฏการณ์เชิงวัฒนธรรมยังคงเป็นจุดเด่นในการสร้างสรรค์ผลงานของอาจารย์นวัตชิ้นนี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของพิธีกรรม ซึ่งในที่นี้การเผากระดาษของคนจีนถูกนำมาใช้เชิงอุปมาอุปมัย การใช้เทคโนโลยีแสกนภาพเป็นงานสามมิติ เป็นรูปการ์ตูน หรือ ภาพเหมือนสามมิติเดวิดฉบับมิเกลันเจโลก็ดี ความพร่าเลือน ผันผวนและย้อนแย้งของหน่วยสัญญะนำเราไปสู่ความตระหนักถึงวัฒนธรรมร่วมสมัยในยุคของเราที่เกี่ยวข้องกับพิธีกรรม วิจิตรศิลป์และวัฒนธรรมสมัยนิยม นี่คงเป็นส่วนหนึ่งของพลวัตรในยุคสมัยใหม่ที่เราต้องเฝ้ามองกันต่อไปต่อปรากฏการณ์ทางวัฒนธรรมและศิลปะในยุคของเรา
.
คำนิยมโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์สรรเสริญ สันติธญะวงศ์
หัวหน้าหมวดวิชาทัศนศิลป์ คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร