หน้าหลัก > ผลงานวิชาการสร้างสรรค์และวิจัย > รวมบทความศิลปนิพนธ์ทฤษฎีศิลป์ ปีการศึกษา 2566 เล่ม 1


  ผลงานโดยนักศึกษา

รวมบทความศิลปนิพนธ์ทฤษฎีศิลป์ ปีการศึกษา 2566 เล่ม 1
ปี 2566

รายละเอียด

หนังสือรวมบทความศิลปนิพนธ์ทฤษฎีศิลป์ ปีการศึกษา 2566 เล่ม 1 (Art Theory Thesis 2023 Vol.1) เป็นส่วนหนึ่งของโครงการเผยแพร่ศิลปนิพนธ์ของนักศึกษาปริญญาตรีชั้นปีสุดท้าย ภาควิชาทฤษฎีศิลป์ คณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ปีการศึกษา 2566 ซึ่งแสดงผลลัพธ์ของการค้นคว้าวิจัยโดยนักศึกษาภาควิชาทฤษฎีศิลป์ ครอบคลุมเนื้อหาตามความสนใจและความถนัดของนักศึกษาหลายด้านที่เกี่ยวข้องกับศิลปะหลากหลายรูปแบบ นับตั้งแต่ ศิลปะ Text-based ศิลปะแห่งการหยิบยืม จิตรกรรมเกาหลี รวมถึงศิลปะการแสดงสด ครอบคลุมองค์ความรู้ศิลปะทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ ตั้งแต่ศิลปะก่อนสมัยใหม่มาจนถึงศิลปะร่วมสมัย ประกอบไปด้วยบทความทั้งหมด 4 บทความ ดังนี้

บทความที่ 1 "ความสัมพันธ์ของตัวอักษรและแนวความคิดในงานศิลปะ Text-based กรณีศึกษาศิลปินร่วมสมัยชาวอังกฤษ" ของปรมา เหล่าปิยะสกุล ได้ศึกษาศิลปะ Text-based โดยวิเคราะห์การสื่อความหมายทางสัญศาสตร์ และรูปแบบการใช้ตัวอักษรในผลงานของศิลปินร่วมสมัยชาวอังกฤษทั้ง 3 คนได้แก่ เทรซี่ เอมิน (Tracey Emin) ฟิโอนา แบนเนอร์ (Fiona Banner) และริชชี คัลเวอร์ (Richie Culver) เพื่อทำความเข้าใจตัวอักษรที่สื่อความทั้งความหมายทางตรง และความหมายทางอ้อมซึ่งเกี่ยวข้องกับตัวตนของศิลปินรวมไปถึงบริบททางสังคมวัฒนธรรมของสหราชอาณาจักร

ในบทความที่ 2 "ศิลปะแห่งการหยิบยืม: กรณีศึกษาภาพโมนาลิซา" ของชัญชนา นิ่มพญา ได้ศึกษาผลงานที่หยิบยืมภาพโมนาลิซาจำนวน 9 ชิ้น ของศิลปินสมัยใหม่และร่วมสมัย 9 คน โดยจัดกลุ่มตามเนื้อหา 3 กลุ่ม ได้แก่ 1. โมนาลิซากับการวิพากษ์วิจารณ์สถาบันศิลปะ 2. โมนาลิซากับการเสียดสีสังคม การเมืองและเศรษฐกิจ 3. โมนาลิซากับการเป็นภาพแทนทางเพศ เพื่อวิเคราะห์ถึงแนวคิดและรูปแบบภาพลักษณ์โมนาลิซาที่ถูกหยิบยืมมานำเสนอในบริบทใหม่

บทความที่ 3 "จิตรกรรมของชิน ยุนบกในบริบทสังคมโชซอน" ของพรพัสสา จันทรสกุนต์ ศึกษาผลงานจิตรกรรมของซิน ยุนบกที่แสดงเนื้อหาเรื่องราวเกี่ยวกับวิถีชีวิตของผู้คนในสมัยโชซอนที่ต่างไปจากงานจิตรกรรมประเภทวิถีชีวิตของจิตรกรคนอื่น เช่น เหตุการณ์ที่ผิดศีลธรรมหรือค่านิยม รวมไปถึงภาพที่เปิดเผยเรือนร่าง ซึ่งได้มีการแบ่งกลุ่มผลงานผ่านการแสดงออกด้านเนื้อหาออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ ผลงานกลุ่มแสดงเนื้อหาชีวิตประจำวัน ผลงานกลุ่มแสดงเนื้อหาวัฒนธรรมประเพณี และผลงานกลุ่มแสดงเนื้อหาคู่รักและคีแซง โดยวิเคราะห์ผ่านค่านิยมและแนวคิดหลักอย่างลัทธิขงจื่อใหม่เพื่อให้เข้าใจถึงบริบทของสังคมโชซอนที่สะท้อนความจริงอีกแง่มุมผ่านผลงานของซิน ยุนบก

บทความสุดท้าย "พัฒนาการผลงานศิลปะของมาริน่า อบราโมวิช ช่วงปี ค.ศ. 1973-2017" ของสุมิตตา การะเกตุ ได้ศึกษาถึงการเปลี่ยนแปลงแนวทางการสร้างสรรค์ของผลงาน โดยวิเคราะห์จากรูปแบบแนวความคิด ประวัติชีวิตของศิลปิน บริบททางสังคม และกระแสศิลปะ ของผลงาน 3 ชิ้น ใน 3 ช่วง ได้แก่ผลงานยุคแรกริ่ม ผลงานคู่ และผลงานเดี่ยว เพื่อให้เกิดความเข้าใจถึงกระบวนการสร้างสรรค์ผลงานที่แตกต่างกันของศิลปิน รวมทั้งรูปแบบ และแนวความคิดที่ปรากฏภายในงาน

สุดท้ายนี้ ทางคณะผู้จัดทำต้องขอขอบคุณศาสตราจารย์ปิยะแสง จันทรวงศ์ไพศาล หัวหน้าภาควิชาทฤษฎีศิลป์ คณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และคณาจารย์ทุกท่านในภาควิชาทฤษฎีศิลป์ หนังสือรวมบทความ Art Theory Thesis 2023 เกิดขึ้นได้จากความช่วยเหลือของผู้เกี่ยวข้องทุกท่าน หากมีข้อผิดพลาดประการใดทางคณะผู้จัดทำต้องขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วย

คณะผู้จัดทำ